วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

บ้านแม่กลางหลวง ตอน2


บ้านแม่กลางหลวง



เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุและเรื่องราวของชาวปกาเกอะญอ อาทิ เครื่องจักสาน ผ้าทอ เครื่องมือเครื่องใช้โบราญของชนเผ่า เครื่องดนตรี

วิถีชีวิตของชุมชนยังคงดำเนินไปในทางดั้งเดิมตามความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมชนเผ่าที่สืบทอดต่อกัน ภูมิปัญญาที่มีมาแต่เดิมก็ได้รับการถ่ายทอด สู่ชนในรุ่นปัจจะบัน เช่น งานฝีมือ การเกษตร

กิจกรรมการทำนาอยู่ระหว่าง มิ.ย. - พ.ย.นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมการทำนาในทุกขั้นตอนการปลูก หรือเลือกนั่งชมภาพความสามัคคีของชาวบ้าน หรือเลือก สูดกลิ่นไอความหอมของกล้าข้าว - ต้นข้าว- รวงข้าว

เดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นศึกษาดูนกประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น

ชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและแปลงผัก/ไม้ดอกเมืองหนาว ชมหมู่บ้านและวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ ) ชิมกาแฟสูตกระเหรี่ยง ชมฝูงปลาค้างคาวและเล่นน้ำในห้วยแม่ท้อกลางหมู่บ้าน

เรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีิวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ ชิมอาหารพื้นบ้าน และเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ชมการสาธิตและการแสดงของชนเผ่าตามประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชมและศึกษาข้อมูลทางชาติพันธุ์ในแง่มุมต่างๆ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของชนเผ่า

การเดินทางสู่บ้านแม่กลางหลวง สามารถเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่- ฮอด) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอจอมทอง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตรโดยประมาณ แล้วเดินทางต่อไปตามเส้นทางอำเภอจอมทอง ? อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงหมายเลข 1009) อีกประมาณ 26 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านแม่กลางหลวง








วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

บ้านแม่กลางหลวง


บ้านแม่กลางหลวง ตั้งอยู่ในหุบเขานาขั้นบันไดอันเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 บนดอยอินทนนท์ ในเขตการปกครองของหมู่ 17 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้อพยพมาจากประเทศพม่า เข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อประมาณทศวรรษ 2330 และได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บ้านอ่างกาน้อย และบ้านผาหมอน เป็นหมู่บ้านหลักหรือหมู่บ้าเก๊า เมื่อประมาณ 20 กว่าปี ก่อนการอพยพย้ายถิ่นไปมาในบริเวณนั้น ตามความเชื่อเกี่ยวกับภัยพิบัติและโรคระบาดที่เกิดขึ้น ได้มีการขยายหมู่บ้านจากบ้านอ่างกาน้อยไปยังบ้านแม่กลางหลวง และจากบ้านผาหมอนไปยังบ้านหนองหล่มดังเช่นปัจจุบัน บริเวณลุ่มน้ำแม่กลาง หรือเรียกตามภาษาถิ่นว่า "แม่กลางคี" มีชนเผ่ากระเหรี่ยงอาศัย ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในกลุ่มสะกอ หรือยางขาวในภาษาราชการ หรือที่รู้จักในชื่อ ปกาเกอะญอ หรือ คานยอ (Kanyaw) อันหมายถึง ผู้มีความสมถะและเรียบง่าย บริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลางประกอบด้วยชุมชนย่อย 4 แห่ง คือ ชุมชนบ้านอ่างกาน้อย ชุมชนบ้านแม่กลางหลวง ชุมชนบ้านหนองหล่ม และชุนบ้านผาหมอน โดยมีจำนวนครัวเรือนในแต่ละกลุ่มบ้านประมาณ 60 - 80 ครัวเรือน

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์ ตอน4


ด้วยอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีทำให้ดอยอินทนนท์ของจังหวัดเชียงใหม่ มีไม้ดอกและพืชเมืองหนาวที่สวยงามให้เที่ยวชม เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ และยังสามารถแวะชมแปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้าน

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ดอยอินทนนท์ของเชียงใหม่ยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุคู่เฉลิมพระเกียรติอีกด้วย นั่นคือพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศและคนไทย พระมหาธาตุทั้งสององค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกันคือฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบ เป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปบูชารอบบริเวณ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างสวยงาม

จุดที่น่าสนใจยังมีอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่สวยงามด้วยดงกุหลาบพันปี และนกนานาชนิดที่ดอยหัวเสือ และผาแง่มที่รอนักผจญภัยขาลุยเข้าไปสัมผัส บ้านแม่กลางหลวงกับความสวยงามของทุ่งนาขั้นบรรได และกาแฟรสดีที่ปลูกขึ้นเองภายในหมู่บ้าน เพียงเท่านี้ก็ทำให้การมาท่องเที่ยว บนยอดดอยอินทนนท์ของนักท่องเที่ยวที่มายังที่แห่งนี้ก็สนุกจนยากที่จะลืมเลือน จนไม่อยากเดินทางไปไหนอีก

นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์ ตอน3


ความสวยงามของน้ำตกที่ดอยอินทนนท์ไม่เป็นรองที่ใด ด้วยน้ำตกใหญ่น้อยที่สวยงามมากมาย เช่นน้ำตกแม่กลางที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์ น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่เกิดจากลำห้วยแม่ยะไหลลดหลั่นลงมาถึง 30 ชั้น รวมความสูงประมาณ 260 เมตร จนกล่าวกันว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ น้ำตกวชิรธาร มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า น้ำตกตาดฆ้องโยง เกิดจากลำห้วยแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 70-80 เมตร ในยามที่แสงอาทิตย์ส่องกระทบละอองน้ำ จะปรากฏสายรุ้งสีสวยงดงามพาดผ่านธารน้ำตก ตรงข้ามน้ำตกมีหน้าผาสูงชันเรียกว่า ผามอแก้ว มีอีกชื่อหนึ่งว่าผาแว่นแก้ว น้ำตกสิริธาร จุดชมทิวทัศน์ที่สวยที่สุดของน้ำตกสิริธาร ต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาน 100 เมตร คดเคี้ยวไปตามความลาดชันของภูเขา ความสวยงามก็ไม่เป็นสองรองใคร น้ำตกสิริภูมิ หรือน้ำตกเลาลี ตามชื่อของชาวเขาที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกแห่งนี้ เป้นน้ำตกใหญ่สองสาย ที่ไหลคู่กันลงมาจากหน้าผาสูงซึ่งสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์ ตอน2


ผืนป่าใหญ่ที่สวยงามและต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตในป่าแห่งนี้ที่เก็บซ่อนความงดงามตามธรรมชาติอันน่าหลงใหลตลอดเส้นทางสูงชันที่มุ่งขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์

เส้นทางแห่งนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสีสรรแห่งธรรมชาติและกลิ่นอายแห่งอารยธรรมล้านนาของภาคเหนือ

ที่ดอยอินทนนท์แห่งนี้จะมีอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ยิ่งในฤดูหนาวด้วยแล้วจะยิ่งมีหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเกือบทั้งวัน จนบางทีเกิดเป็นแม่คะนิ้ง สิ่งต่างๆที่สวยงามเหล่านี้จึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยว ที่ดินแดนแห่งนี้ไม่ขาดสาย

ดอยอินทนนท์ยังเป็นสวรรค์สำหรับนักดูนก ที่นี่มีนกป่าเกือบ 400 ชนิด เส้นทางดูนกเป็นเส้นทางเดินที่ราบเรียบสะดวกสะบายผ่านไปท่ามกลางป่าดิบเขาที่มีระดับความสูงที่อยู่ประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากป่าดิบเขาที่อยู่บนยอดดอยอินทนนท์ โดยมีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจขึ้นอยู่ตลอดทาง เช่นพญาไม้มณฑาดอย สำหรับนกที่พบเห็นได้ง่าย ก็มีนกมุ่นรกตาแดง นกขมิ้นแดง นกเปลือกไม้ นกปลีกล้วยลาย นกติ๊ดแก้มเหลือง รวมทั้งมีนกหายากซึ่งมีรายงานการพบนกบนเส้นทางนี้คือ นกปีกแพรสีม่วง และนกปีกแพรสีเขียว ในจำนวนนี้มีนกมากกว่า 100 ชนิดที่เป็นนกอพยพ ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ในช่วงฤดูหนาว หลายชนิดพบได้ยากในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นนกเดินดง นกจับแมลง นกจาบปีกอ่อน นกเขน

ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านมาจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้วเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทส และสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งวัน และบางช่วงก็จะเกิดน้ำค้างแข็ง หรือแม่คะนิ้งทำให้ดินแดนแห่งนี้จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเท่องที่ยวกันตลอดไม่ขาดสาย

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์


ดอยอินทนนท์อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,265 เมตร ดินแดนสูงสุดแห่งประเทศไทย การเดินทางมายังที่นี่ใช้ระยะเวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยการขับรถไม่ถึงชั่วโมงมาตามเส้นทางท่องเที่ยวที่ มีธรรมชาติแวดล้อมสวยสดงดงาม และกลิ่นอายของอารยธรรมล้านนา ความงามของดอยอินทนนท์พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางทุกท่านที่มาเที่ยวยังดินแดนแห่งนี้ ให้ได้ชื่นชมในความงามของดินแดนแห่งนี้ให้ได้อิ่มตาอิ่มใจ กันไป
ผืนป่าใหญ่ต้นน้ำแห่งนี้เก็บซ่อนความสวยงามน่าหลงใหลตลอดเส้นทางสูงชันสู่ยอดดอย น้ำตกน้อยใหญ่จำนวนมากที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนพื้นราบ แต่เดิม ดอยอินทนนท์ มีชื่อว่าดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ดอยหลวงนั้นคือมีภูเขาขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกดอยอ่างกานั้นมีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่าอ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่าดอยอ่างกา เมื่อครั้งที่พื้นที่ป่าไม้ทางภาคเหนือ ยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครอบครองนครต่างๆ นั้นในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของป่าไม้เป็นอันมากโดยเฉพาะดอยหลวง พระอง๕ทรงหวงแหนห่วงใยเป็นพิเศษ ทรงสั่งไว้ว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้บนยอดดอยหลวงด้วย ต่อมาคำว่าดอยหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็นดอยอินทนนท์
ปัจจุบันชื่ออ่างกาคือเส้นทางหนึ่งในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีความหลากหลายมากที่สุด และสวยที่สุดที่หนึ่งบนดอยอินทนนท์ เส้นทางนี้มีระยะทางประมาณ 1,800 เมตร พื้นที่นี้เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา จุดเด่นที่น่าสนใจของดินแดนแห่งนี้คือเป็นป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อนที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่นพืชที่อาศัยเกาะติดอยู่กับต้นไม้ ลักษณะของต้นน้ำลำธาร และลักษณะของต้นไม้บนดอยอ่างกา เช่นกุหลาบพันปี บัวตอง ต่างไก่ป่า และต้นข้าวตอกฤาษีที่ขึ้นตามพื้นดิน (ข้าวตอกฤาษีเป็นพืชที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์สูงจะขึ้นในที่สูงกว่า 2,000 เมตรเท่านั้น และเจริญเติบโตได้ดี ในพื้นที่ชุ่มชื้น อากาศเย็น) และตามหน้าผาพบป่ากึ่งอันไพน์ ซึ่งเป็นสังคมพืชที่หาดูได้ยากในเมืองไทย

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

เวียงกุมกาม เชียงใหม่

เวียงกุมกาม นครต้นแบบแห่งนครเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนา เวียงกุมกามสร้างขึ้นโดยพญาเม็งราย อายุนานกว่า 700 ปี เวียงกุมกามถูกทิ้งไว้รกร้าง ภายใต้ซากปรักหักพังในบริเวณชุมชนและหมู่บ้านห่างจากถนนมหิดลราว 2 กิโลเมตรหรือ ประมาณ 4-5 กิโลเมตรจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ตามตำนานเล่าขานของล้านนา พญาเม็งรายทรงสร้างเวียงกุมกามเพื่อเป็นศูนย์กลางของล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 18 เวียงกุมกามมีความเจริญ รุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ก่อนที่พญาเม็งรายจะทรงสร้างนครเชียงใหม่ เวียงกุมกามยังคงมีความสำคัญ และเป็น เมืองหน้าด่านต่อมา อีกหลายร้อยปี จนกระทั่งยุคเสื่อมของล้านนา พม่าเข้ายึดครอง เวียงกุมกามถูกน้ำท่วมใหญ่จนถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา และเงียบหายไปจากความทรงจำ จากหลักฐานการขุดค้นโดยกรมศิลปกร ในอดีตเวียงกุมกามเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวเมือง และพ่อค้าจากต่างเมือง มีความ เจริญทางเศรษฐกิจ โดยพบว่าในศิลาจารึกได้ระบุว่า มีเรือมาค้าขายเป็นจำนวนมาก และมีเรือล่ม 2-3 วันเป็นประจำ จนพญาเม็งราย เห็นสมควรให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง เพื่อให้การไปมา และค้าขายทำได้อย่างสะดวกความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะได้ รับอิทธพลจากศิลปะมอญและพม่า ดังจะเห็นได้จากร่องรอยและรูปแบบของเจดีย์ ลายปูนปั้น และพระพุทธรูปมีรูปแบบผสมผสานระหว่างล้านนาและพม่า ในปัจจุบัน เวียงกุมกามได้แปรเปลี่ยนสภาพสู่โบราณสถานที่ทรงคุณค่า จากการขุดค้น พบโบราณสถาน มากกว่า 20 แห่ง และยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างทำการขุดค้นและบูรณะเพิ่มเติม วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือเจดีย์กู่คำ นับเป็นโบราณสถานที่ยังทรงความงดงาม แม้จะตั้งตระหง่านมายาวนานกว่า 700 ปี และเป็นโบราณสถาน แห่งแรกที่ควรค่าแก่การแวะชมและศักการะเป็นแห่งแรก จากนั้นท่านสามารถเข้าชมโบราณต่าง ๆ โดยรอบอีกกว่า 20 แห่ง ซึ่งสามารถขับรถ เข้าชมได้โดยรอบ แต่แนะนำให้แวะชมโดยการปั่นจักรยานซึ่งจะให้อรรถรสในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นการร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อม บริเวณเวียงกุมกาม วัดช้างค้ำ และวัดกานโถม นับเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานประวัติศาสตร์ วัดช้างค้ำและวัดกานโถมตั้งอยู่ตอนกลางของเวียงกุมกาม วัดกานโถมสร้างโดยช่างกาน โถมตามประสงค์ของ พญาเม็งรายเพื่อศักการะพระมหากัสสปะเถระ วัดช้างค้ำยังเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชุมชนโดยรอบของเวียงกุมกาม นอกจากวัดเจดีย์เหลี่ยมและวัดช้างค้ำแล้ว โบราณสถานอื่น ๆ โดยรอบประกอบด้วย วัดพญาเม็งราย วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดธาตุขาว วัดอีก้าง วัดธาตุปู่เปี้ย กู่ป้าต้อม กู่ริดไม้ม กู่มะเกลือ วัดกู่ไม้ซ้ง กู่ต้นโพธิ์ วัดหัวหนอง กู่อ้ายหลาน และโบราณสถานแห่งอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการขุดค้น และบูรณะ