วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เวียงแหงโลกลึกลับของเชียงใหม่

เวียงแหงโลกลึกลับของเชียงใหม่
หลายคนเคยไปเชียงใหม่กันมาหลายอำเภอแล้วหลายครั้ง ประทับใจไม่รู้ลืมความเป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ คนที่เคยไปเวียงแหงมีน้อยมากอำเภอเวียงแหงเหนือสุดของเชียงใหม่ติดดินแดนพม่า ที่โน่นเป็นเมืองใหญ่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม วันนี้ใครไปอาจจะคิดว่าทำไมไม่ไปเสียตั้งนานแล้ว ที่เวียงแหงน่าจะเป็นเมืองที่มีวิวทิวทัศน์สวยที่สุดในภาคเหนือ ที่เวียงแหงจะพบผู้คนใช้ชีวิตอยู่กินแบบดั้งเดิม ที่นี่ยังมีชนเผ่าหลงเหลืออยู่ที่นี่มีชนเผ่าอยู่กว่า9เผ่าพันธุ์ทั้งคนเมือง ไทยใหญ่ ชาวเขาหลายเผ่าและจีน ที่พูดภาษาจีนกลาง
เวียงแหงเป็นเมืองที่เพิ่งฟื้นจากอดีต ในอดีตเวียงแหงเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดพบเชื่อกันว่าในศตวรรษที่19เป็นเมืองใหญ่แล้ว สมัยอยุธยา ยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใหญ่ไปกว่านั้นอีก เป็นเมืองการค้าและการสงครามสำคัญ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเชียงใหม่กับอังวะ เมืองหลวงพม่าสมัยนั้น เป็นจุดสุดท้ายที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชุมพลพักทับเพื่อไปตีอังวะในปี2148ไม่มีใครรู้ว่าทำไมเวียงแหงโทรมลงจนค่อยๆเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์รอบร้อยปีชี้ว่าเป็นเขตชายแดนไกลโพ้นส่วนหนึ่งของอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ไปเวียงแหงจะตื่นเต้นเร้าใจ เวียงแหงอยู่ห่างจากเชียงใหม่ในเส้นทางสายเหนือที่มุ่งไป อ.ฝาง 150กม. เมื่อไปได้ราว 72 กม. ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปในเส้นทางที่ระบุว่าไปเมืองงายในเขต อ.เชียงดาวเพื่อเดินทางต่อไปอีก 54 กม ไปถึง อ.เวียงแหง จากเชียงดาวไปเวียงแหงนี่เอง ภูมิประเทศสุดสดสวยตื่นเต้นเร้าใจที่สุด เนื่องจากรถต้องวิ่งวกวนขึ้นลงเทือกเขาเทือกแล้วเทือกเล่า ลัดเลาะไปตามไหล่เขาสูงและขอบหุบเหวลึก หลายครั้งถนนหักข้อศอกผ่านป่าดงดิบที่สวย พื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยตั้งแต่ 750-2,000 เมตรรถวิ่งอยู่ในป่าเขารกชัฏเงียบสงัดอากาศเยือกเย็นสองข้างทางเต็มไปด้วยดงไม้สูงใหญ่ แต่จะไม่น่ากลัวเพราะเป็นถนนชั้นดี
ไปที่โน่นจะรู้สึกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาอย่างแท้จริง ด้วยเนื้อที่750 ตร.กม. ของอำเภอนี้เป็นป่าเขา93%ต้นน้ำลำธาร เพียง 7% เนื้อที่ 50 ตร.กม. เท่านั้น เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เดินทางวกวนอยู่บนเขาจะพบป่าไม้หลายลักษณะตามความสูงของพื้นที่ ตั้งแต่ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา และป่าสนเมืองหนาว ในช่วงฤดูหนาว พ.ย.-ม.ค. จะเห็นทุ่งบัวตองเหลืองอร่ามตามป่าเขาไปตลอดทาง และช่วง ม.ค.-ก.พ. ต้นนางพญาเสือโคร่ง(ดอกซากุระพันธุ์ไทย) จะออกดอกสีชมพูกระจัดกระจายกันเป็นหย่อมๆให้เห็นมากมาย
เวียงแหงเป็นโลกลึกลับของเชียงใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครได้พบห็น ทั้งที่เป็นที่รวมหลากหลายขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อถือ ด้วยเป็นที่อยู่ของผู้คน 9 เผ่าพันธุ์ด้วยกัน ที่โน่นชาวเขายังแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ตามเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม ไม่เหมือนในเขตเจริญเชียงใหม่ ต้องจ้างจึงจะสวมใส่ให้ดู บนคนเมืองชาวเหนือในเวียงแหงหลังคาบ้านหลายแห่งตามรายทางยังมุงด้วยใบตองตึง ซึ่งหาดูไม่ได้แล้วในตัวเมืองเชียงใหม่ เดินอยู่ในเวียงแหงบ่งบอกเด่นชัดเป็นเมืองใหญ่มาก่อนมีแนวคูเมืองยาวถึง 2,000 เมตร ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปไตหรือรูปถั่ว มีวัดร้างราว 60 วัด มีมากกว่าวัดที่มีในปัจจุบันถึง 3 เท่า บ่งชัดเป็นเมืองใหญ่มาก่อน วัดร้างบางแห่งอยู่ในดงสักใหญ่ อย่างเช่น วัดป่าใหญ่ แผ่นอิฐและกระเบื้องหักพังที่พบสร้างขึ้นอย่างมีลวดลายสวยงาม
ตัวเมืองเชียงแหงเก่ามีลักษณะเป็นเมืองปราการสงคราม ที่โน่นในรอบปีกอปรด้วยเทศกาลและงานประเพณีของคนหลายเผ่าทั้งปี อาทิ ปอยส่างลอง, ปอยหางน้ำและปอยส้มต่อของชาวไทยใหญ่ ตรุษจีนของชาวจีนฮ่อ ประเพณีกินวอของชาวเขาเผ่าลีซอ คริสต์มาสของชาวกะเหรี่ยง ยังพร้อมด้วยประเพณีชาวไทยเหนือที่มีวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันสงน้ำพระธาตุแสนไห พระบรมธาตุที่ชาวเวียงแหงเคารพอย่างสูงมาก น่าแปลก ประเพณีเหล่านี้คนภายนอกไม่ค่อยรู้กันว่ามีที่เวียงแหง ทั้งที่น่าจะเป็นจุดขายสำคัญด้วยเป็นพิธีดั้งเดิมอย่างมาก